การเตรียมต้นทุเรียนให้พร้อมก่อนการออกดอก นับว่ามีความสำคัญอย่างยิ่ง เนื่องจากเป็นปัจจัยแรกที่มีผลต่อความสำเร็จของการผลิตทุเรียน ดังนั้นเกษตรกรจึงต้องให้ความสำคัญและต้องมีการปฏิบัติงานในช่วงเวลาที่เหมาะสม เพื่อให้ต้นทุเรียนมีความสมบูรณ์พร้อมสำหรับการผลิตทันเวลา
👉การเลือกต้นทุเรียนเพื่อผลิตทุเรียนนอกฤดู
การเลือกต้นนับว่าเป็นความสำคัญอันดับแรกของการผลิตทุเรียนนอกฤดู
เพราะการเลือกต้นทุเรียนที่เหมาะสมจะมีบทบาทสูงต่อความสำเร็จในการผลิตทุเรียน
โดยทั่วไปชาวสวนทุเรียนควรพิจารณาเลือก ดังนี้
✅อายุของต้น
ต้นทุเรียนที่เหมาะสมเพื่อผลิตทุเรียนนอกฤดู
ควรเป็นต้นที่ให้ผลผลิตมาแล้วหรือมีอายุระหว่าง 8-15 ปี หรือมีเส้นผ่าศูนย์กลางของทรงพุ่มประมาณ
6-12 เมตร
✅ ความพร้อมของต้น
ต้นทุเรียนที่พร้อมสำหรับการใช้สารแพคโคลบิวทราโซล
คือต้นทุเรียนที่มีการเจริญเติบโตและมีการสะสมพลังงานในรูปของคาร์โบไฮเดรตเพียงพอสำหรับกระบวนการออกดอก
ซึ่งการเตรียมต้นให้มีความพร้อมจะมีขั้นตอนที่แตกต่างกันไป
✅ โครงสร้างของต้น
ต้องเป็นต้นที่มีโครงสร้างที่ดี
มีลำต้นเดี่ยว ทรงพุ่มเป็นทรงฉัตร สูงไม่เกิน 15 เมตร
มีกิ่งที่เหมาะสมต่อการออกดอกติดผลจำนวนมาก มีปริมาณใบและความหนาทึบของใบได้สัดส่วนกับจำนวนกิ่ง
สภาพต้นโดยทั่วไปสมบูรณ์
✅การสะสมอาหารของต้นทุเรียน
การเจริญเติบโตต้องผ่านการแตกใบอ่อนมาแล้วอย่างน้อย 2 ครั้ง (2 ชุด) จำนวนใบที่แตกและพุ่งออกมา มีจำนวนอย่างน้อย 5-7 ใบต่อยอด ขนาดของใบใหญ่เท่าใบชุดเดิมหรือใบใหญ่กว่าเดิม ใบมีสีเขียวเข้มออกดำ และเป็นมันแผ่นใบค่อนข้างเรียบ
👉การส่งเสริมให้ทุเรียนแตกใบอ่อน
✅การตัดแต่งกิ่ง
หลังจากเก็บเกี่ยวผลผลิต
จะต้องทำการตัดแต่งกิ่งที่เป็นโรค กิ่งแห้ง กิ่งแขนงด้านในทรงพุ่ม
ออกให้หมดเหลือไว้แต่กิ่งสมบูรณ์ที่ค่อนข้างขนานกับพื้นดิน
✅การใส่ปุ๋ยเพื่อสร้างใบใหม่
หลังเก็บเกี่ยวควรมีการใส่สารปรับปรุงดินตามค่าวิเคราะห์ดิน
เนื่องจากในสวนทุเรียนที่มีการใส่ปุ๋ยเคมีมานานจะพบว่าดินส่วนใหญ่มีความเป็นกรดค่อนข้างสูงมีผลต่อการส่งเสริมให้เกิดโรคในทุเรียน
โดยเฉพาะโรครากเน่าโคนเน่า และยังมีผลต่อการนำธาตุอาหารพืชในดินไปใช้ประโยชน์อีกด้วย
ในกรณีต้นโทรม
แสดงถึงต้นทุเรียนมีระบบรากไม่สมบูรณ์ ควรมีการกระตุ้นระบบราก
ให้มีการพัฒนาก่อนการใส่ปุ๋ย โดยการรดด้วยสารละลายของปุ๋ยเกร็ดที่มีธาตุอาหารหลัก
ธาตุอาหารรอง และธาตุอาหารเสริม (จุลธาตุ) รวมอยู่ด้วย เช่น ปุ๋ยเกร็ดสูตร
15-30-15 อัตรา 60 กรัม ผสมสารฮิวมิค แอซิด อัตรา 100-200 ซีซี/น้ำ 20 ลิตร
รดต้นทุเรียนในอัตรา 15-20 ลิตร/ต้น ตามขนาดของต้นทุเรียน โดยรดตรงบริเวณใต้ทรงพุ่มติดต่อกัน
3 สัปดาห์ๆ ละ 1 ครั้ง หรือใช้วัสดุล่อรากหว่านที่ผิวดินใต้ทรงพุ่มเพื่อกระตุ้นให้รากทุเรียนงอกขึ้นมาอยู่ระหว่างผิวดินและวัสดุล่อราก
วัสดุล่อรากที่ดีคือ เศษหญ้าแห้งผสมกับปุ๋ยคอกอัตรา 4:1 โดยปริมาตร หว่านหนาประมาณ 1-3 เซนติเมตร หรือใช้สารอินทรีย์ฮิวมิค แอซิด อัตรา 1,000 ซีซี (1 ลิตร) และปุ๋ยยูเรีย (46-0-0) อัตรา 300-500 กรัม ผสมน้ำ 200 ลิตร ใช้เครื่องพ่นแรงดันสูง ปรับหัวฉีดให้เป็นฝอยหยาบฉีดพ่นลงดินบริเวณทรงพุ่ม 3 วันต่อครั้ง รวม 3 ครั้ง รากทุเรียนจะขึ้นมาโดยใช้เวลาประมาณ 3 สัปดาห์ หลังจากนั้นจึงทำการใส่ปุ๋ยเคมีและปุยอินทรีย์
👉การสร้างใบใหม่ชุดที่
1
หลังจากกระตุ้นระบบรากให้มีการพัฒนาแล้ว
ให้ใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 25-7-7 หรือ 16-16-16 อัตรา 250-300 กรัม
ต่อเส้นผ่าศูนย์กลางทรงพุ่ม 1 เมตร และปุ๋ยอินทรีย์ 3-5
กิโลกรัมต่อเส้นผ่าศูนย์กลางทรงพุ่ม 1 เมตร อีก 10 วันต่อมาให้ใช้ปุ๋ยยูเรีย
(46-0-0) อัตรา 1-1.5 กิโลกรัมต่อต้น ใส่บริเวณรอบๆ ชายพุ่ม ส่วนปุ๋ยทางใบพ่นด้วยปุ๋ยสูตร
13-0-46 อัตรา 2.5-3 กิโลกรัมต่อน้ำ 200 ลิตร หลังจากนั้น 7-10 วัน
ทุเรียนจะแตกใบอ่อนชุดที่ 1
การรักษาใบอ่อนที่แตกออกมาให้สมบูรณ์
ช่วงที่ใบอ่อนชุดที่ 1
เจริญเติบโตเป็นใบแก่ ถ้าสังเกตพบว่ามีแมลงรบกวนจำนวนมากหรือมีลักษณะอาการของโรคที่ใบให้เลือกใช้ชนิดของสารเคมีที่ใช้กับศัตรูพืชชนิดนั้นๆ
ฉีดพ่นและเพื่อสนับสนุนให้ใบทุเรียนมีสีเขียวเข้มออกดำ ควรฉีดพ่นอาหารเสริมที่มีแมกนีเซียมและธาตุอาหารหลักเป็นองค์ประกอบด้วย
👉การสร้างใบใหม่ชุดที่
2
เมื่อต้นทุเรียนผ่านการแตกใบอ่อนชุดแรกแล้วรวมระยะเวลาประมาณ
45-60 วัน ใบชุดแรกจะเจริญเติบโตเป็นใบแก่เต็มที่ ต่อมาให้ชาวสวนเริ่มกระตุ้นให้ทุเรียนแตกใบใหม่ชุดที่
2 ด้วยวิธีการเหมือนการสร้างใบอ่อนชุดแรก
ทั้งนี้ให้พยายามควบคุมและรักษาให้ใบชุดที่
2 เริ่มเป็นใบเพสลาด ช่วงกลางเดือนสิงหาคม เพราะในเดือนสิงหาคม สภาพอากาศ
จะเหมาะแก่การฉีดพ่นสารเคมี (สารแพคโคลบิวทราโซล) เพื่อกระตุ้นตาดอกของทุเรียน
ที่มา : บันได 6 ขั้น สู่การผลิตทุเรียนนอกฤดูอย่างมืออาชีพ
.
อ่านเพิ่มเติม : วิธีการฉีดสารแพคโคลบิวทราโซล ในทุเรียน