อิฐบล็อก ปลูกกล้วยไม้ แทนกาบมะพร้าว เซฟต้นทุน เพิ่มกำไรระยะยาว
“กาบมะพร้าว” หรือ “เปลือกมะพร้าว” คือ วัสดุปลูกกล้วยไม้ตัดดอกตัวหลัก และเป็นเพียงตัวเดียวที่ได้รับความนิยมสูงสุด เพราะเป็น “ของดี ราคาถูก”
แต่ภายหลังจากพื้นที่ปลูกมะพร้าวได้รับผลกระทบจากแมลงระบาด ผลผลิตจึงลดน้อยลง และมีราคาสูงขึ้น ราคากาบมะพร้าวจึงสูงตาม
แต่ชาวสวนกล้วยไม้จำนวนหนึ่งไม่ยอม “คุกเข่า”
ให้กับปัญหา จึงเสาะหาวัสดุอื่นมาแทนที่
แต่อะไรจะเป็นของดี ราคาถูก
เหมาะกับการทำสวนกล้วยไม้เชิงเศรษฐกิจเท่ากับกาบมะพร้าว
ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อ เพราะเป็นไปแล้ว
“อิฐบล็อก” ที่ใช้ก่อสร้างบ้านกลายเป็นตัวเลือก ทั้งๆ
ที่มันไม่มีคุณสมบัติอุ้มน้ำเลย และยังหนักอึ้งอีกด้วย ดีอย่างเดียวคือ แข็งแรง
ทนทาน
แต่อย่าลืมว่าในยุคบุกเบิกของการปลูกเลี้ยงกล้วยไม้ ใช้วัสดุจำพวก อิฐ ดินเผา เศษกระเบื้อง และถ่าน เป็นเครื่องปลูก อิฐบล็อก ที่ผลิตจากปูนซีเมนต์และอิฐบดหยาบ
จึงน่าจะใช้ปลูกกล้วยไม้ได้เช่นเดียวกัน
แน่นอนว่าความสามารถในการกักเก็บความชื้นพ่ายแพ้กาบมะพร้าวแน่นอน
ดังนั้นในการปลูกจึงต้องเสริมกาบมะพร้าวเข้าไปสำหรับปลูกกล้วยไม้นิ้ว
หรือกล้วยไม้เล็ก และอาศัยรดน้ำถี่ขึ้น
เมื่อวัดผลการเจริญเติบโต ผลผลิต
เป็นที่น่าพอใจ จึงมีเกษตรกรจำนวนหนึ่งเลือกใช้อิฐบล็อกปลูกกล้วยไม้มากขึ้น
โดยเฉพาะในช่วงหลังปีน้ำท่วม 54 ที่สวนกล้วยไม้ จ.กรุงเทพ นนทบุรี และนครปฐม
เสียหายจำนวนมาก กาบมะพร้าวราคาขึ้นสูง ถึง 10-12 บาท ขณะที่อิฐบล็อกราคา 5-6
บาทเท่านั้น
นับจากนั้น อิฐบล็อก จึงถูกจับใส่กล้องขยาย
กระจายไปยังเกษตรกรรายอื่นๆ จำนวนมาก
ขณะที่บางสวนหันมาใช้แบบถาวร แม้กาบมะพร้าวราคาลดลงเป็นปกติแล้วก็ตาม
เพราะมองเห็นประโยชน์ และต้นทุนที่จะลดลงในระยะยาว
อิฐทนทานดุจหิน ไม่ผุพังง่ายเหมือนกาบมะพร้าว
คาดว่าจะอยู่ได้นานจนปลูกกล้วยไม้ได้ 2 รุ่น ความหมายก็คือ
หลังจากโล๊ะกล้วยไม้รุ่นแรกออก สามารถปลูกรุ่นต่อไปได้เลย
โดยไม่ต้องเปลี่ยนอิฐใหม่ ขณะที่กาบมะพร้าวไม่เกิน 1 รอบก็ผุพัง และต้องเติมเพิ่มอีกด้วย
อิฐบล็อกจึงช่วยลดต้นทุนเครื่องปลูกในรุ่นที่
2 ได้ ไม่ต่ำกว่า 24 ,000 บาท/ไร่ หยิบเครื่องคิดเลขมากดดูเล่นๆ ถ้าปลูกกล้วยไม้ 20 ไร่
ลดต้นทุนได้ 48,000 บาท/ไร่ แล้วถ้ารายใหญ่ 50 ไร่ 100 ไร่ ต้นทุนลดลงมหาศาล นั่นย่อมหมายถึงกำไรที่จะเพิ่มสูงขึ้น
แต่สำหรับผู้ที่หันมาใช้อิฐบล็อกในช่วงแรกๆ
มักจะพบปัญหาว่าความชื้นไม่เพียงพอเหมือนกาบมะพร้าว โดยเฉพาะในช่วงหน้าแล้ง
จนต้องรดน้ำวันละไม่ต่ำกว่า 2 ครั้ง ถ้าน้ำไม่ถึงต้นโทรม แคระแกร็น
จนเลิกใช้ไปก็มี
แต่มีเกษตรกรหัวก้าวหน้าไฮสปีด
อย่าง คุณเอกณัฎฐ์ คูเจริญชัยมานที เจ้าของ “สวนกล้วยไม้มานะออร์คิดฟาร์ม”
เจ้าของสวนกล้วยไม้กว่า 300 ไร่ ซึ่งใช้กาบมะพร้าวปลูกกล้วยไม้ทั้งหมด
แต่ก็ไม่ปิดกั้นที่จะเสาะหาทางเลือกใหม่ๆ ที่น่าสนใจ และพอจะลดต้นทุน
และสร้างความคุ้มค่าได้ หนึ่งในนั้นได้ทดลองปลูกกล้วยไม้ด้วยอิฐบล็อกอยู่แปลงหนึ่ง
ซึ่งถือเป็นห้องทดลองเล็กๆ เพื่อเก็บผลลัพธ์
แต่ปัญหาที่เจอคือ ความชื้นไม่เพียงพอ
จึงคิดค้าหาวิธีช่วย ไม่ว่าจะเป็นเติมกาบมะพร้าวช่วย และอีกวิธีหนึ่งคือ
ใช้ซาแรนแบบเดียวกับที่ใช้ทำหลังคาโรงเรือนกล้วยไม้นี่แหละปูทับอิฐสร้างความชื้น
เพราะโดยปกติซาแรนมีคุณสมบัติพรางและกันแสงแดดได้ระดับหนึ่งอยู่แล้ว
ขึ้นอยู่กับความเข้มของแต่ละแบบ แต่คุณเอกณัฎฐ์ใช้ซาแรนพรางแสง 50%
“ตอนแรกผมใช้ชั้นเดียวมันก็ช่วยได้ระดับหนึ่ง
แต่ก็ยังไม่พอ จึงเพิ่มเป็นขึงสองชั้น ปรากฏว่าผลเปลี่ยนไปอย่างเห็นได้ชัดเลย
สังเกตจากรากกล้วยไม้มันจะเพิ่มมากขึ้นและไปเกาะรวมอยู่ใต้ซาแรน
ต้นกล้วยไม้ก็เขียว ลำอวบสมบูรณ์ โดยเฉพาะพันธุ์สุรีย์พีช
กล้วยไม้สร้างชื่อของมานะออร์คิด แต่จุดอ่อนของพันธุ์นี้คือ เลี้ยงยาก
เพราะถ้าความชื้นไม่เพียงพอจะไม่สมบูรณ์ รากก็น้อย แต่พอเรามาปลูกกับอิฐบล็อกและใช้ซาแรนปูอิฐบล็อก
ลำต้นสมบูรณ์อย่างเห็นได้ชัด ช่อดอกยาว และให้ช่อดอกดก”
ส่วนการหันมาใช้ซาแรนปูอิฐบล็อกเพื่อเพิ่มความชื้นไม่เป็นการเพิ่มต้นทุนแต่อย่างใด
เพราะใช้ซาแรนของเก่านั่นเอง วิธีนี้คุณเอกณัฎฐ์การันตีว่าแก้ปัญหาได้จริง
แต่สำหรับผู้ที่จะนำไปเป็นแบบอย่างอาจจะใช้ซาแรนพรางแสงสูงขึ้น
60-70 % ใช้แค่ชั้นเดียวก็น่าจะพอ
“ข้อดีของการใช้อิฐบล็อก
ที่เห็นได้ชัดเจนคือ เรื่องลดการฉีดยาป้องกันเชื้อราลง
ซึ่งเป็นศัตรูคู่อาฆาตของกล้วยไม้ โดยเฉพาะในช่วงหน้าฝน หรือ ในฤดูที่อากาศปิดนาน
เชื้อราระบาดได้ พอใช้อิฐบล็อก ก็แค่ฉีดป้องกันเท่านั้น ความเข้มข้นตัวยาก็ลดลงให้เจือจางลง
ช่วยลดค่ายาเชื้อราไปได้มาก”
อิฐบล็อกปลูกกล้วยไม้ตัดดอก น่าจะเป็นหนึ่งในทางออกที่จะช่วยเกษตรกรชาวสวนกล้วยไม้
ที่ต้องเผชิญกับราคาผลผลิตตกต่ำมาอย่างยาวนาน ถ้าจะรอให้ราคากล้วยไม้สูง ใช้เวลาชาตินี้อาจไม่พอ
แนวทางเดียวคือ ลดต้นทุน เท่านั้น และอิฐบล็อกคือ หนึ่งใน “ประตูนิรภัย”
ขอขอบคุณ