ชื่อของ พล.ท.เฉลิมศักดิ์
วรกิจโภคาทร หรือที่นักเล่นชวนชมนิยมเรียกติดปากทั้งวงการว่า “นายพล”
ถือว่า “ขลัง” มากในวงการ มีทั้งกลุ่มคนยอมรับนับถือ ศรัทธา
และอาจรวมไปถึงเป็นที่ “ยำเกรง” เสมอในเวทีประกวด
ไม่ใช่เพราะยศ “พล.ท.”
นายทหารระดับสูงของเขา หรือตำแหน่งระดับสูงอย่างอดีตผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่ 11, เจ้ากรมการสารวัตรทหารบก
และที่ปรึกษากองทัพบก ที่ พล.ท.เฉลิมศักดิ์เคยดำรงก่อนเกษียณแต่อย่างใด เพราะตำแหน่งเหล่านี้ไม่มีความสำคัญและใช้เป็นต้นทุนไม่ได้เลยในวงการชวนชม
และไม่ใช่เพราะภาพลักษณ์นายทหารตัวสูงใหญ่
มาดขรึมที่ยังคงติดตัวเขามาแม้จะล่วงเลยวัยเกษียณมากว่าครึ่งทศวรรษแล้วก็ตาม
หากแต่ชื่อเสียงของนายพลเกิดจากฝีมือการปลูกเลี้ยงชวนชมที่เข้าขั้นชั้น
“ครู” ของเขาต่างหาก ระยะเวลากว่า 20 ปีที่เขาอยู่ในวงการเป็นเครื่องพิสูจน์ให้เห็นกระจ่างแล้ว
ทั้งยังชัดเจนด้วยผลงานเชิงประจักษ์ โดยเฉพาะกับชวนชมกลุ่มไทยโซโคพันธุ์ “เพชรบ้านนา”
ซึ่งต้นที่ผ่านการเลี้ยงดูจากเขาได้รับการยกย่องอย่างกว้างขวางว่าเป็นต้นที่สวยที่สุด
มูลค่าสูงที่สุด ก่อนจะกลายเป็นสัญลักษณ์และต้นแบบของชวนชมพันธุ์นี้
โดยมีมูลค่าสูงถึง 2 ล้านบาท
ซึ่งต้องยอมรับว่าชวนชมต้นใหญ่ขนาดนั้นหาดูได้ยากในเมืองไทย
อย่าได้แปลกใจเลยที่ชวนชมเพชรบ้านนาโด่งดังคับวงการ
ส่วนหนึ่งเป็นฝีมือของ พล.ท.เฉลิมศักดิ์ นั่นเอง
ไม่เพียงเพชรบ้านนาเท่านั้น
มงกุฎทองและมงกุฎเพชร ซึ่งเป็นลูกหลานของชวนชมพันธุ์ “บางคล้า”
ยังเป็นชวนชมสร้างชื่อให้นายพล
เพราะถือว่าเป็นพันธุ์ที่เขาเลี้ยงได้สวยที่สุดคนหนึ่งของวงการ รูปแบบการเลี้ยงของเขากลายเป็นต้นแบบแห่งการเลี้ยงชวนชมพันธุ์ดังกล่าว
จึงไม่ต้องสงสัยเลยว่าเหตุใดเขาจึงได้โควต้า
“มงกุฎทอง” จากสวน NSD มากที่สุดถึงปีละ
200 ต้น
ซึ่งเป็นชวนชมที่ได้รับความนิยมมากที่สุดอีกหนึ่งสายพันธุ์ เพราะการที่นายพลนำไปเลี้ยงเลี้ยงก็ไม่ต่างอะไรกับการโปรโมทไม้ให้
สวน NSD
พล.ท.เฉลิมศักดิ์จึงถือเป็นต้นแบบหนึ่งของวงการชวนชมที่ถูกยึดถือเป็นเยี่ยงอย่าง
เพราะเขาถือเป็น “นักสะสม” ตัวจริง
ที่ปลูกเลี้ยงชวนชมด้วยความรักโดยไม่มีเรื่องตัวเงินเข้ามาเกี่ยวข้อง
แม้ระยะหลังจะทราบกันดีว่านายพลได้เงินจากชวนชมไปหลายล้านบาทแล้วก็ตาม
หากแต่นั่นเป็นรางวัลที่เกิดจากการสะสมคะแนนมามากกว่า 2 ทศวรรษ
สมัยที่ พล.ท.เฉลิมศักดิ์ดำรงตำแหน่งเป็นผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่ 11 จ.ฉะเชิงเทรา หรือเมื่อกว่า20
ปีที่แล้ว เป็นครั้งแรกที่เขารู้จักชวนชม โดยเป็นชวนชมพันธุ์ฮอลแลนด์
หรือชวนชมไม้สี ที่นิยมเล่นดอก ทั้งหมดได้รับจากสวนลุงหยู
นักเล่นชวนชมรุ่นลายครามของแปดริ้ว เขามักจะไปมาหาสู่สวนลุงหยูเสมอพร้อมกับซื้อชวนชมกลับมาปลูกไว้บริเวณบ้านพักในค่ายทหารจนเต็มบ้าน
เป็นที่แปลกใจของทหารทั้งค่าย
ก่อนที่ลูงหยู
ซึ่งรู้กันดีว่ามีสายสัมพันธ์ที่ดีกับ “สวนเพชรบ้านนา” ของ อนุชา
เกียรติกุล เจ้าของสายพันธุ์ชวนชมเพชรบ้านนา เมื่อครั้งสวนยังอยู่ เขาเพิ่ม
อ.บ้านนา จ.นครนายก ได้มอบเพชรบ้านนาเป็นของขวัญปีใหม่ให้แก่ พล.ท.เฉลิมศักดิ์ ซึ่งทั้งสองคนพูดตรงกันว่า
เป็นต้นที่ “ขี้เหล่” ที่สุดต้นหนึ่ง เพราะเป็นต้นที่ “เหลือเลือก”
หรือพูดง่ายๆ ว่าไม่มีใครซื้อ ซึ่งมีอายุประมาณ 4-5 ปี แต่ด้วยเป็นคนรักต้นไม้นายพลจึงรับด้วยไมตรีแล้วเลี้ยงอย่างเข้าใจ
ก่อนที่ชวนชมต้นนี้จะสร้างความตื่นตะลึงให้แก่วงการชวนชมในเวลาต่อมา
หลังจากนั้นนายพลใช้เวลาว่างส่วนใหญ่หมดไปกับการปลูกเลี้ยงชวนชม
ก่อนที่จะหลงใหลกับชวนชมเพชรบ้านนาแบบเต็มๆ เพราะด้วยความที่มีโอกาสไปเห็นต้นแม่พันธุ์เพชรบ้านนาของสวนเพชรบ้านนาที่นำมาโชว์ในงานพรรณไม้งามอร่ามสวนหลวง
ร.9
ขณะนั้นกำลังออกดอกดกสกาวเต็มต้น
ซึ่งเป็นเวลาเดียวกับที่เพชรบ้านนากำลังโด่งดังแบบสุดขีด จึงทำให้เขาต้องซื้อชวนชมพันธุ์นี้มาสะสมอยู่เรื่อยๆ
จนกลายเป็น “แฟนพันธุ์แท้” ไปโดยไม่รู้ตัว
แต่นายพลก็หาได้เทใจให้เพชรบ้านนาเพียงอย่างเดียว
ยังปันใจให้ชวนชมพันธุ์อื่นตามประสาของคนรักต้นไม้ หากแต่ยังอยู่ในกลุ่มของไทยโซโค
เพราะเมื่อ สิบกว่าปีก่อนเขาซื้อชวนชมมงกุฎทองและมงกุฎเพชรจากสวน NSD
ซึ่งเป็นชวนชมพันธุ์ใหม่ที่ดังขึ้นมาในวงการ แม้จะเริ่มซื้อในรุ่นที่ 3 ไม่ใช่รุ่นแรกๆ
แต่หลังจากนั้นเขาก็กลายมาเป็นแฟนพันธุ์แท้ของมงกุฎทองทุกรุ่น
จนได้รับโควตามากที่สุดและซื้อในราคาพิเศษอีกด้วย
ก่อนที่ชวนชมมงกุฎทองจะเป็นชวนชมอีกพันธุ์ที่สร้างชื่อเสียงให้นายพล
ทั้งๆ ที่ไม่ได้เป็นเจ้าของสายพันธุ์ แต่เกิดจากเทคนิคการปลูกเลี้ยงที่ออกมาสวย
และเป็นสไตล์ของมงกุฎทองมากที่สุด
การเลี้ยงชวนชมของนายพลถือว่าเป็นเทคนิคที่เกิดจากความเข้าอกเข้าใจธรรมชาติของต้นไม้
โดยเฉพาะชวนชมมากที่สุด และมีสไตล์การเลี้ยงที่เป็นเอกลักษณ์ จนผู้เขียนสังเกตได้ง่ายว่าเป็นไม้ของใคร
โดยเฉพาะในเวทีประกวด
ลักษณะการเลี้ยงแบบรากโหย่ง
หรือการยกรากให้สูงเรื่อยๆ จนรากกลายมาเป็นส่วนหนึ่งของลำต้น
ดูจะเป็นเอกลักษณ์อันเป็นเอกของนายพล นักเล่นหลายคนก็นำสไตล์นี้ไปใช้เป็นแบบอย่าง
ปกติโดยสายพันธุ์ของชวนชมบางคล้าและลูกหลานบางคล้า
มีจุดอ่อนคือ คอสั้น หรือไม่มีคอเลย จากกิ่งก็ชนรากเลย
ด้วยความบังเอิญหรืออาจจะประสบการณ์ที่เก็บสะสมมาจนทำให้พบว่าชวนชมพันธุ์นี้ถ้าจะเลี้ยงให้สวยต้องมีลำต้น
ซึ่งเป็นกฎเกณฑ์ของต้นไม้สวยที่ต้องมีลำต้นชัดเจน การจัดรากในแนวดิ่งหรือรากโหย่งลงก้นกระถาง
และค่อยๆ ยกรากสูงขึ้นเรื่อยๆ เมื่อเปลี่ยนกระถาง
รากก็จะค่อยใหญ่และกลายมาแทนที่เป็นลำต้นในที่สุด
นี่เป็นลักษณะที่ดีและถูกต้องของต้นไม้ใหญ่ นักเล่นรุ่นหลังๆ
ที่มองการณ์ไกลและรู้เท่าทันสายพันธุ์มักจะเข้าไปดูชวนชมต้นใหญ่ของนายพล
เพื่อเป็นแบบอย่าง เพื่อเป็นแรงบันดาลใจ
นายพลเคยบอกว่าการจะได้ต้นชวนชมอย่างนี้ต้องเลี้ยงตั้งแต่ต้นเล็กๆ
ซึ่งเป็นเรื่องแปลกที่นายพลไม่เคยเพาะต้นชวนชมเอง อาศัยการเลือกซื้อจากสวนต่างๆ
เกือบทั้งหมด อาจเป็นเพราะความเชื่อที่ว่า การผลิตหรือการซื้อเมล็ดชวนชมมาเพาะเอง
เป็นการเสียเวลาและโอกาสที่จะได้ต้นสวยมีน้อยมาก
ทั้งยังไม่คุ้มกับเวลาและวัสดุที่เสียไป
การเลือกซื้อต้นโดยการคัดเลือกจากสวนที่เพาะกล้าแบบมืออาชีพน่าจะมีโอกาสได้ชวนชมสวยๆ
ทั้งหมด แม้ต้นทุนจะสูงกว่าก็ตาม
หลักการคัดเลือกต้นกล้าชวนชมของ
พล.ท.เฉลิมศักดิ์มีกฎอยู่ว่าต้องเลือกช่วงอายุประมาณ 4-6 เดือน
มีกิ่งกลางหรือกิ่งยอดสูงกว่ากิ่งอื่น ตามด้วยตำแหน่งกิ่งรอบกิ่งกลาง
แบบซ้ายขวาหน้าหลัง กิ่งและลำต้นสมบูรณ์ การซื้อควรซื้อ 20 ต้นเป็นอย่างน้อย
ให้เพียงพอต่อการคัดเลือกต้นที่สวยเมื่อต้นมีอายุมากขึ้น เพราะชวนชมที่เลือกมาอาจจะไม่สวยทุกต้น
“โดยปกติต้นกล้า
20
ต้นเมื่อนำมาปลูกเลี้ยงจะคัดต้นที่สวยพอใช้ได้ไม่เกิน 10 ต้น
และจะมีต้นที่สวยจริง 1-2 เท่านั้น” เป็นคำยืนยันจากนายพล
ซึ่งอาจจะไม่ได้หมายความว่าต้นที่เหลือจะไม่สวยเลย หากแต่ถือว่าสวยงามพอใช้
เมื่อเลือกต้นกล้าแล้วต้องนำมาปลูกใหม่ในกระถางใหญ่ขึ้น
ประมาณ 6-8 นิ้ว
โดยอาศัยการจัดรากไปพร้อมๆ กัน โดยจัดรากให้เป็นระเบียบให้รากแผ่ออกรอบต้น
ลำต้นตั้งตรง ก่อนจะกลบดินให้สูงจากระดับราก 1.5 นิ้ว
กดดินให้แน่เพื่อให้ยึดต้นป้องกันการล้มหรือเอน
“ดินปลูก
มีส่วนผสมขิงดินใบก้ามปู 1 ส่วน ปุ๋ยขี้วัว 1
ส่วนและกาบมะพร้าวสับหลาบคละละเอียด 2 ส่วน”
ในกรณีที่รากมีองค์ประกอบไม่สมดุล
หรือรากไม่รอบด้านขาดๆ เกินๆ วิธีแก้ปัญหาที่ดีที่สุดคือ
การตัดรากเก่าทิ้งเพื่อชำรากใหม่ โดยตัดในส่วนเหนือตำแหน่งรากที่อยู่สูงสุด
จากนั้นทาปูนแดงรอให้แห้งก่อนนำชำลงกระถาง แต่ต้องฝังให้ลึกกว่าปกติ
กดดินให้แน่นเพื่อไม่ให้ต้นล้มคลอน รากใหม่จะงอกและแตกออกมารอบด้านเป็นรากตะขาบ ซึ่งต้องยอมรับว่าการสร้างรากด้วยวิธีนี้นายพลเป็นคนแรกๆ
ที่กล้าทำแบบนี้ ก่อนที่จะมีเซียนหลายคนก็อปปี้ไปเป็นแบบอย่าง
การเปลี่ยนดินครั้งต่อไปทำทุก 4-5 เดือน พร้อมๆ
กับการจัดรากและเปลี่ยนกระถางขนาดใหญ่ขึ้น
ควบคู่กับการจัดแสงและเก็บใบ ซึ่งนายพลบอกว่าเป็นเทคนิคที่มีความสำคัญ
อย่างการจัดแสง อธิบายให้เข้าใจง่ายๆ ก็คือ
การจัดตำแหน่งต้นไม้ให้ได้รับแสงแดดเสมอกันทุกๆ ด้าน เพื่อให้กิ่งเติบโตเท่ากัน โดยหมั่นหมุนกระถาง
180 องศา ทุก 5-10 วัน
โดยเฉพาะกับต้นที่มีกิ่งยาวไม่เสมอกัน หลักการหันคือ
ให้หันกิ่งด้านที่สั้นกว่าไปยังด้านที่รับแสงแดดจนกว่ากิ่งจะยาวใกล้เคียงกัน ซึ่งสถานที่เลี้ยงชวนชมควรรับแสงตลอดวัน
อย่างน้อยวันละ 8 ชั่วโมง
อีกวิธีที่ช่วยให้กิ่งยาวเสมอกันคือ
การตัดใบ ซึ่งการตัดใบจะช่วยหยุดหรือชะลอการเจริญเติบโตลง
ทำก็ต่อเมื่อกิ่งใดกิ่งหนึ่งยาวเกินกว่ากิ่งอื่นๆ การตัดควรตัดครึ่งใบตามขวางของทุกใบในกิ่งนั้นๆ
จนกว่ากิ่งอื่นยาวเท่ากัน การตัดใบยังสามารถใช้ในการบังคับให้กิ่งสั้นกระชับอีกด้วย
เทคนิคการรดน้ำของนายพลถือว่ามีความน่าสนใจ
เพราะเขามีความเชื่อว่าชวนชมแต่ละขนาดกระถางความถี่ความห่างในการรดน้ำไม่เท่ากัน
ยิ่งกระถางใหญ่มากขึ้นเท่าไหร่ยิ่งต้องรดน้ำห่างขึ้น
ดังตัวอย่างที่เขาเคยให้ข้อมูลไว้ว่า กระถางขนาด 4-8 นิ้ว ควรรดน้ำตอนเช้าทุกวัน ขนาดกระถาง 10 นิ้ว รดวันเว้นวัน กระถาง 15 นิ้ว รดน้ำวันเว้น 2
วัน กระถาง 16-20 นิ้ว รดน้ำทุกๆ 4 วัน และกระถางขนาด 20 นิ้วขึ้นไปรดน้ำทุกๆ 5 วัน
ปัจจุบันสวนนายพล
ตั้งอยู่พื้นที่เดียวกับสวนลงหยู หรือ สวนชวนชมศรีสุนทร ที่นั่นมักจะมีนักเล่นชวนชมหน้าใหม่และหน้าเก่าเข้าไปชมสวนเสมอ
เพราะสวนแห่งนี้มีชวนชมกลุ่มไทยโซโคต้นขนาดใหญ่ให้ชม โดยเฉพาะ เพชรบ้านนา
บางคล้าและมงกุฎทอง เป็นต้น ชวนชมแต่ละต้นถือเป็นต้นสุดยอดอันดับต้นๆ ของเมืองไทย
ซึ่งเป็นการสร้างแรงบันดาลใจให้แก่นักเล่นชวนชมรุ่นหลังๆ
ได้มีกำลังใจในการเลี้ยงชวนชม ซึ่งชวนชมต้นใหญ่อายุมากกว่า 20 ปีขนาดนี้หาดูได้ยากเต็มที
ว่ากันว่านักเล่นหน้าใหม่หากคิดจะเล่นชวนชมทั้งในเชิงสะสมและมองไปถึงอาชีพครั้งหนึ่งในชีวิตต้องไปสวนนายพล