ความชำนาญและประสบการณ์ กว่าจะได้มา ต้องลงทุนด้วย “เวลา” |
แต่สำหรับนักเล่นชวนชมที่ชื่อ “ภัทร บางปู” เขาสร้างประสบการณ์และความชำนาญการทำ “ชวนชมบอนไซ” ขึ้นมาเพียงชั่วเวลาแค่ 6 เดือน เพราะเขาเลือกที่จะศึกษาจากครูที่เป็นผู้รู้ ผู้เชี่ยวชาญด้านบอนไซโดยตรง และส่วนหนึ่งศึกษาจากครูที่ชื่อ “Google”
ปัจจุบันเขาจึงได้ชื่อว่าเป็นนักทำชวนชมแนวบอนไซฝีมือดีคนหนึ่ง โดยเฉพาะในกลุ่มชวนชมราชินีพันดอกกิ่งตอน และไม้เมล็ด เขาทำมันได้ดี จนมีนักเล่นมาจ้างวานให้เขาทำชวนชมบอนไซไม่เคยเว้นว่าง
ทีมงาน “ต้นไม้และสวนออนไลน์” รู้จักและเห็นผลงานของนักเล่นรายนี้
ใน Facebook ที่เขาหมั่นโพสต์ไม้และวิธีการทำไม้เกือบทุกวัน จนมี “คอชวนชม” ติดตามมากกว่า 3,000 คน พวกเราตั้งใจว่าจะเข้าไปเยี่ยมและชมผลงานของเขาเมื่อมีโอกาส
และโอกาสนั่นก็มาถึง
พวกเราเดินทางไปยังเคหะบางปู ซอย 35 สวนชวนชมเล็กๆ ของคุณภัทร ตั้งอยู่ที่นี่
“บ้านผมไม่ค่อยมีพื้นที่ตั้งชวนชมได้ไม่กี่ต้น
โชคดีที่มีพี่ในซอยเดียวกัน เขามีบ้านแต่ไม่ได้อยู่
ผมเลยขอเช่าพื้นที่หน้าบ้านเดือนละพัน เอาไว้ทำชวนชม” ปฏิพล ขอนสระคูู หรือ ภัทร บางปู เล่า
“หลังๆ ค่านิยมของชวนชมกลุ่มอื่นมาแรงขึ้นมา อย่างพวกอาราบีคัม ผมก็ตามเล่นอยู่พักหนึ่ง แต่ตอนนั้นปลูกอย่างเดียว ยังทำรากทำกิ่งอะไรไม่เป็น ส่วนหนึ่งก็ขายบ้างเพราะช่วงปี 58 อาราบีคัมมาแรงมาก”
ระยะเวลาใกล้ๆ กันนั้น
คุณภัทรรู้จักกับชวนชมเขาแกะ เป็นพันธุ์แปลก ใบหยิกคล้ายๆ กับเขาของแกะ
ซึ่งตอนนั้นยังไม่มีใครเล่นมากนัก จึงได้โอกาสเก็บสะสมไว้มากพอสมควร พอกลางปี 58 เมื่อเขาแกะบูมขึ้นมาตามคาด
ไม้ของเขาจึงได้โอกาสขายจนเกลี้ยงสวน
ต้องยอมรับว่าชวนชม นอกจากการปลูกเลี้ยงเพื่อความสวยงามแล้ว
มันยังสร้างเงินและรายได้เสริมให้เขาเป็นอย่างดีเสมอมา
“ผมมีงานประจำเป็นพนักงานบริษัทผลิตอะไหล่รถยนต์ของญี่ปุ่น
แต่ตอนหลังเศรษฐกิจไม่ค่อยดี อุตสาหกรรมรถยนต์ชะลอตัว รายได้จาก OT น้อยลง
ก็ได้เลี้ยงได้ขายชวนชมนี่แหละเป็นรายได้เสริมให้ครอบครัว” เขาพูดถึงความดีงามของชวนชมในเชิงรายได้
โดยเฉพาะกับชวนชมเขาแกะ เป็นตัวที่ได้เงินมากพอดู
ปลายปี 2558 เขาประกาศขายชวนชมแบบเหมาสวนในราคาเพียงแค่
30,000 บาท ส่วนใหญ่เป็นกิ่งพันธุ์เขาแกะ
ชวนชมกลุ่มอาราบีคัมและไทยโซโค ไม่ใช่เพราะเขาจะเลิกเล่นชวนชม
แต่เขาต้องการศึกษาการปลูกเลี้ยงชวนชมชั้นสูงกว่านี้อย่างจริงจัง นั่นก็คือ
การทำชวนชมบอนไซ เมื่อ 6 เดือนที่แล้ว
“ตอนแรกผมไปศึกษาบอนไซพวกไม้เนื้อแข็ง
แล้วหาวิธีการทำบอนไซของต่างประเทศใน Google ทั้งของไทย
จีน ญี่ปุ่น อินโดนีเซีย ดูเขาว่าทำกันอย่างไร และพยายามหานักทำบอนไซเก่งๆ
ที่อยู่ใกล้ๆ ว่าอยู่ที่ไหน ทำให้รู้จักกับพี่แก้ว แปดริ้ว อาจารย์อ๋อง
และนักเล่นที่ จ.อยุธยา รู้จักนักทำชวนชมบอนไซฝีมือดีๆ อีกหลายคน
อาจารย์แต่ละคนก็มีวิธีการสอน การถ่ายทอดแตกต่างกัน ผมก็ทำตามที่เขาสอนทั้งหมด
แล้วก็มาเลือกว่าแบบไหนที่เราชอบเราและถูกใจ”
เขาเริ่มต้นประเดิมวิชาบอนไซที่ได้ศึกษามากับชวนชมราชินีกิ่งตอน
นำมาตัดกิ่ง เข้าลวด จัดราก แต่ก็เป็นไปอย่างค่อยเป็นค่อยไป
เพราะวัตถุดิบและอุปกรณ์ราคาค่อนข้างสูง เช่น ต้นชวนชม กระถาง ลวด กรรไกร และอื่นๆ
จะว่าไปแล้วข้อดีของบอนไซจากชวนชม
ก็คือ มันเป็นไม้เนื้ออ่อน โตไว กิ่งอ่อน ดัดง่าย ไม่แตกไม่หักง่าย
เวลานำมาทำบอนไซจะ "จบ" เร็ว หรือได้รูปทรงที่สวยสมบูรณ์เร็วกว่าพวกไม้เนื้อแข็ง
ที่สำคัญราคาถูกกว่าไม้เนื้อแข็ง ฐานะระดับกลางๆ อย่างเขาเล่นได้
“ชวนชมราชินีกิ่งตอนนำมาทำบอนไซง่ายกว่าทุกสายพันธุ์ เพราะโครงสร้างต่างๆ มีครบ มีรากรอบต้น มีลำต้นสูงขึ้นมา มีกิ่งเยอะ ใบเล็ก และดอกก็ดก ส่วนพวกไม้เมล็ดองค์ประกอบไม่เข้าหลักบอนไซ แต่เราเอามาเข้าลวด จัดราก มันก็จะสวยงามขึ้น”
แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าราชินีกิ่งตอนทุกต้นจะทำบอนไซได้ทั้งหมด
ต้องเลือกต้นที่มีองค์ประกอบหลักๆ ครบ
“ไม้กิ่งตอนที่เป็นบอนไซต้องมีครบ 4 ทิศทาง คือ ซ้าย ขวา หน้า หลัง และเปิดให้เห็นโครงสร้างกิ่งภายใน เวลามองเข้าไปจะเห็นโครงสร้างกิ่งหลักของไม้ต้นนั้น ถ้าไม่ครบองค์ประกอบก็จะไม่เป็นบอนไซที่สมบูรณ์ เป็นไม้ทรงบูมหรือทรงพุ่มเลียนแบบบอนไซ แต่ก็มีกลุ่มคนที่ชอบทรงแบบนี้จำนวนมาก”
จะเห็นได้ว่าชวนชมราชินีพันดอกกิ่งตอน หากได้ลองนำมาแต่งองค์ทรงเครื่อง ด้วยวิธี การตัดด้วยมีดหรือกรรไกร ดัดด้วยลวด และจัดราก ปลูกในกระถางบอนไซ ก็กลายเป็น "นางงาม" ได้ไม่ยาก เพียงแต่อยู่ที่ความนิยมชมชอบของนักเล่นต่างหากว่าชอบแบบไหน แต่โดยรสนิยมส่วนตัวของคุณภัทร เขาชอบและทำไม้กิ่งตอนที่มีองค์ประกอบบอนไซครบมากที่สุด และเขาก็เลือกศึกษาในทางปฏิบัติอย่างเอาจริงเอาจัง
หลักการทำบอนไซที่คุณภัทร ให้ความสนใจศึกษามากเป็นพิเศษคือ "การเข้าลวด" ซึ่งย่อมไม่ใช่เพียงแค่เอาลวดมาพันกิ่งเท่านั้น แต่มันคือ ศาสตร์และศิลป์ ที่ต้องฝึกจนชำนาญ
“เวลาไปเวทีประกวดชวนชมผมจะไปเดินดูว่าเขาเข้าลวดกันอย่างไร เพราะนักประกวดแต่ละคนเข้าลวดไม่เหมือนกัน ก็พยายามสังเกต และถามผู้รู้ จนได้ความรู้หลักๆ อย่างการเข้าลวดที่สวยงามจะต้องไม่ให้เห็นปลายลวด จะหลบไว้ใต้กิ่ง หรือหลังกิ่ง เวลามองต้องไม่เห็นปลายลวดเลย อีกเรื่องหนึ่งคือ การต่อลวดของผมจะไม่ต่อลวดกลางลำ มันเกิดจากการกะความยาวลวดไม่ถูก สุดตรงไหนก็ต่อตรงนั้นเลย ถ้ากรรมการเห็นจะมองว่าเก็บงานไม่ละเอียด วิธีแก้คือ อย่าให้ลวดมาสุดกลางลำ ให้สุดแค่ง่ามกิ่ง แต่วิธีแก้เมื่อหลีกเลี่ยงไม่ได้เราต้องเริ่มเข้าคู่กันมาจากโคนกิ่งย่อย อาจจะเปลืองลวดหน่อย แต่มันสวยงามกว่า” เขาพูดถึงรายละเอียดเล็กน้อยของการเข้าลวด หากแค่สำคัญ
เทคนิคซ่อนปลายลวดไว้ใต้หรือหลังกิ่ง |
“แต่หลักการของการเข้าลวดคือ
ต้องใช้ขนาดเส้นลวดสัมพันธ์กับขนาดของกิ่ง ดังนั้นชวนชม 1 ต้น จึงต้องใช้ลวดหลายขนาด
เวลาจะเข้าลวด ต้องจับคู่กิ่งเสมอ คือ ลวด 1 เส้นที่ตัดออกมาจะเข้าลวด
2 กิ่งซ้าย-ขวาเสมอ การยึดรัดจึงแน่นและมั่นคง”
“เข้าลวดเป็นขั้นตอนที่สำคัญ
เพราะมันต้องเข้าทุกกิ่ง ต้องใช้สายตาและการสังเกตให้ละเอียด
และค่อยพัฒนาเป็นความชำนาญ แต่ละต้นใช้เวลาพอสมควร ถ้าต้นใหญ่รายละเอียดเยอะ
ผมเคยใช้เวลามากที่สุด 6 ชั่วโมง
แต่ถ้าต้นไม่ใหญ่มาก 2 ชั่วโมงก็เสร็จ”
ส่วนโครงสร้างด้านล่าง คือ ราก
หลักการทำ ต้องพยายามทำให้บาลานซ์กับขนาดต้น
อีกทั้งชวนชมราชินีกิ่งตอนรากที่จะสมบูรณ์ออกรากรอบต้น ตามธรรมชาติมีน้อย
จึงต้องเลี้ยงกันตั้งแต่เล็กๆ แต่ต้นใหญ่ๆ ที่ไม่ได้ทำรากตั้งแต่เล็ก
ก็ต้องตัดแต่งออก ซึ่งจะกลายเป็นแผลใหญ่ หรือไม่ก็ต้องตัดรากทิ้งทั้งหมด
เพื่อสร้างรากใหม่ก็มี
แต่สรุปก็คือ ราชินีที่จะนำมาทำบอนไซ ต้องเลือกต้นที่มีรากรอบลำต้น คุณภัทรจะแบ่งการจัดรากออกเป็น 2 แบบ คือ รายละเอียดรากมาก กับรายละเอียดรากน้อย ตรงนี้ขึ้นอยู่กับความนิยมชมชอบของแต่ละคน ส่วนคุณภัทร บอกว่าเขาจะไม่ชอบทำรากให้มีรายละเอียดมาก จะเลือกแต่เส้นใหญ่ๆ ขนาดรากสมดุลกับขนาดของลำต้น เพื่อให้ดูเป็นธรรมชาติ
“บางครั้งเราต้องตัดรากใหญ่ออก
เพราะบางต้นไม่ได้ทำรากตั้งแต่เล็กๆ เส้นที่มันใหญ่แล้วทับรากอื่นๆ ดูแล้วไม่สวย
เราก็จำเป็นต้องตัดทิ้ง แล้วไปรักษาแผลเอา แต่ชวนชมมันโตไว แผลก็จะกลืนไว”
คุณภัทร เล่าว่า
หลังจากยกชวนชมฝีมือของตนเองออกสนามประกวด
จึงเป็นที่สนใจของคนที่ชอบชวนชมสไตล์ที่เขาทำ จึงตามมาหา
หรือไม่ก็ติดต่อให้เขาช่วยทำ ส่วนใหญ่ เป็นราชินีพันดอกกิ่งตอน
“ผมเพิ่งจะรับทำเมื่อช่วงเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาจนถึงทุกวันนี้
จนนับไม่ได้แล้วว่าทำมากี่ต้นแล้ว มีทั้งที่เขาให้ไปทำที่สวน และยกมาให้เราทำ
แต่ใครจะให้ผมทำต้องเห็นต้น ต้องดูโครงสร้างก่อนว่าเป็นอย่างไร ส่งรูปมาให้ดู
หรือให้ผมไปดูที่สวน เพื่อประเมินว่าทำเป็นบอนไซได้มั้ย และค่าทำเท่าไหร่”
คุณภัทร บอกว่าราคาในการเข้าลวดชวนชม เริ่มต้นจาก 300 บาท ไปจนถึงหลักหมื่น
ขึ้นอยู่กับขนาดและโครงสร้างของต้นไม้เป็นหลัก
“ผลงานที่เคยรับทำมากที่สุด 15,000 บาท กระถางขนาด 1.30 เมตร ทำตั้งแต่เก้าโมงเช้าถึงห้าทุ่ม”
เขาจะใช้เวลาทำชวนชมเต็มที่ช่วงวันหยุดเสาร์อาทิตย์
และวันปกติถ้าไม่มี OT เริ่มตั้งแต่หลังห้าโมงเย็นถึงสี่ทุ่มวันไหนมี OT ก็หยุดทำ แต่ถ้าติดลมทำถึงตีสามก็เคยมี
“ชวนชมเป็นรายได้เสริมในช่วงที่รายได้จากงานประจำน้อยลง
แล้วเงินส่วนหนึ่งที่ได้จากชวนชมก็ใช้เป็นเงินลงทุนในการซื้อไม้มาทำต่อไป
และผมวางไว้ว่าประมาณ 5 ปี
จะกลับไปอยู่บ้านเกิดและยึดชวนชมเป็นอาชีพหลัก”
คุณภัทร
เป็นตัวอย่างหนึ่งของการใช้เวลาว่างจากงานประจำมาสะสมชวนชมที่เขารัก
และอีกมุมหนึ่งก็สร้างรายได้เสริมที่ดี
ยิ่งเมื่อพัฒนาฝีมือการปลูกเลี้ยงขั้นสูงขึ้น จนเทียบชั้นไม้ประกวด ค่อยๆ
พัฒนาเป็นความชำนาญ และสร้างเอกลักษณ์ของตนเอง ก็จะเป็นช่องทางสร้างรายได้ที่สำคัญ
ทุกวันนี้เขาเลยมีงานรับทำชวนชมแนวบอนไซแทบไม่ขาดมือ
ซึ่งเป็นเครื่องการันตีฝีมือของเขาได้เป็นอย่างดี
ขอขอบคุณ
ปฏิพล ขอนสระคู
อ.เมือง จ.สมุทรปราการ
โทรศัพท์ 09-2530-8000,09-2451-8000,08-6295-6823
เยี่ยมชม Facebook ภัทร บางปู: